หนังสือพิมพ์ภูมิภาค รายสัปดาห์ ของคนใต้ ปีที่ 26 ฉบับที่ 1,330 วันที่ 8 – 21 เมษายน 2567

การประชุม “เมือง(ไม่)รู้ร้อนรู้หนาว ภาคใต้ฯ” ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม เอกชน หน่วยงานภาครัฐ ผนึกกำลังหาแนวทางรับมือความเปลี่ยนแปลง เมือง-อากาศ ชี้นโยบายจากส่วนกลาง คือคำตอบหลักของปัญหา

28-29 มีนาคม 2567 สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมกับ มูลนิธิชุมชนสงขลา (SCF) ศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขต 12 และ มูลนิธิเครือข่ายเมืองภาคใต้เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (SCCCRN) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “เมือง(ไม่)รู้ร้อนรู้หนาว ภาคใต้ เพื่อเตรียมความพร้อมของชุมชนเมืองต่อภาวะโลกเดือด” ณ โรงแรมเบญจพร แกรนด์ วิว จังหวัดสงขลา

ดร. ผกามาศ ถิ่นพังงา ผู้อำนวยการโครงการ Success กล่าวว่า การประชุมพูดคุยไม่ใช่แค่ปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) แต่เป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากหลายๆ พื้นที่ ในประเด็นสำคัญเร่งด่วนคือ เมืองกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ “โครงการ Success เป็นโครงการใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป หรือ EU (European Union) จัดทำโครงการ โดยพื้นที่ในภาคใต้คือ จังหวัดสงขลาพัทลุง และสตูล ส่วนภาคอีสานที่ จังหวัดขอนแก่นอุดรธานี และหนองคาย เนื่องจาก EU เน้นความสำคัญภาคประชาสังคมมีบทบาทขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง จึงจัดทำโครงการเพื่อเสริมบทบาทภาค
ประชาสังคมในการเปลี่ยนแปลงพัฒนาเมือง เตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยเชื่อมโยงการทำงานไปพร้อมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ฯลฯ ซึ่ง
ปีนี้เป็นปีที่ 5 ของโครงการฯ” ดร. ผกามาศ กล่าวและว่าการพัฒนาเมืองเป็นเรื่องของทุกคนต้องมีส่วนร่วม การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศก็ส่งผลกับทุกคน ดังนั้น การพัฒนาเมืองต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่กำลังเกิดขึ้นแล้ว ในขณะที่เมืองก็มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จากอดีต ปัจจุบัน และมองไปสู่อนาคต เพื่อชุมชนจะได้ปรับเปลี่ยนแนวความคิด ให้อยู่รอดได้จากผลกระทบ ที่เกิดขึ้น หรือหากมีแผนพัฒนาเมืองจากหน่วยงานภาครัฐ ชุมชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมได้โดยการสร้างกลไกขึ้นมา เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและร่วมรับประโยชน์จากการพัฒนาไปพร้อมกัน
“เมือง สิทธิชุมชน การเข้าถึงทรัพยากร เช่นโครงสร้างพื้นฐานอย่างเท่าเทียมเป็นธรรม การออกกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ แผนนโยบายจากส่วนกลาง เราเห็นความเป็นมาของเมืองตั้งแต่อดีต สู่ปัจจุบัน และคาดการณ์อนาคตว่าจะเป็นอย่างไร เช่น
การขับเคลื่อนเรื่องอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของเมือง ชุมชน และย่อมส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งนิยามความเป็นเมือง ก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน”climate variability assessment หรือ การประเมินความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพ
ภูมิอากาศ พบว่าทุกคนในสังคมมีความเปราะบางเท่าเทียมกัน เกิดจากหลายสาเหตุ จากนโยบายส่วนกลาง การเมืองเปลี่ยน ฯลฯ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ จากการทำงานเก็บข้อมูล มาวิเคราะห์ ประเมิน สู่การมาวางแผนร่วมกันระหว่างกลุ่มเปราะบาง ภาคประชาสังคม ภาครัฐ เอกชน ภาคธุรกิจ วิชาการ เพื่อลดความเปราะบางของทุกคน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากจนในชุมชนอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม โดยวันนี้จะนำไปสู่การวางแผนงานของแต่ละชุมชน แต่ละเมืองเพื่อนำไปสู่การทำ “โครงการนำร่อง” ซึ่งสำคัญมาก เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงกับพื้นที่ ได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริง และสุดท้ายเพื่อผลักดันสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน”
ส่วนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Climate Adaptation ซึ่งมีทั้งเรื่องโลกร้อน ฝนที่ตกหนักอย่างไม่เคยเกิดขึ้น พายุรุนแรง ภัยพิบัติหากจะสรุป Climate Change คือ“ความไม่แน่นอน” คือความเปลี่ยนแปลงที่คาดการณ์ได้ยาก ทั้งหมดนี้ย่อมไม่ใช่แค่เปลี่ยนหลอดไฟ หรือจัดการขยะ ลดการใช้พลาสติค ฯลฯ แต่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว ยกตัวอย่าง มาบตาพุด อิสเทิร์นซีบอร์ด ฯลฯ หรือโลกอุตสาหกรรมที่มีมาแล้ว 70-80 ปี นั่นคือเมื่อเกิดอุตสาหกรรม เกิดการเผาไหม้ จึงเกิด Global warming เป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก
ล่าสุด องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ตรวจพบว่า เดือนกุมภาพันธ์ 2567 เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก ประเทศที่หนาวก็อาจจะหนาวจัดยิ่งขึ้น สภาพอากาศมีความรุนแรงและความถี่ของความรุนแรงมากขึ้น การคาดการณ์ก็ทำได้ยากขึ้น
“จากความเปลี่ยนแปลงทั้งสองเรื่องดังกล่าว คือความเป็นเมืองและสภาพอากาศ ก็ยิ่งทำให้การจัดการกับปัญหายิ่งมีซับซ้อนยุ่งยากมากขึ้นไปอีก ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่มีความเปลี่ยนแปลง ดังนั้น เรื่อง Climate Adaptation จึงเป็น
โจทย์ใหญ่ของประเทศไทย ทั้งการลดก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรม ลดการปล่อยคาร์บอนจากการใช้รถ ฯลฯ แต่ที่สำคัญคือ การดูทั้งระบบการปรับเปลี่ยนแผนนโยบายการจัดการของภาครัฐ เช่น การบริหารจัดการน้ำ การออกแบบเมือง การจัดการพื้นที่สีเขียว การคมนาคม การจัดการขยะ ฯลฯ ไม่ใช่แค่การปรับเปลี่ยนแต่พฤติกรรมของคน แต่เป็นการเปลี่ยนทั้งระบบ” ดร. ผกามาศ กล่าว

นายชาคริต โภชะเรือง ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนสงขลา กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการร่วมพูดคุย โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เช่น สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลาศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 สำนักงานพมจ.สงขลา ตัวแทนองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สำนักงาน
สิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 16 ฯลฯ และตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมและชุมชนจาก 3 จังหวัด ซึ่งทุกคนล้วนได้รับผลกระทบ และนำสู่การพูดคุย เชื่อมโยงกันและเข้าใจเรื่องนี้ร่วมกัน เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยใช้ความรู้จากการปฏิบัติ จากประสบการณ์ตรง และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเชิงนโยบาย มาแลกเปลี่ยนกัน นำไปสู่การปรับระบบการทำงานและวิธีปฏิบัติในการทำงานร่วมกัน บนพื้นฐานเพื่อประโยชน์ของสังคม
แนวคิดหลัก 3 คำคือ เมือง ประชาสังคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเลือกความเป็นเมืองมา 3 รูปแบบ คือเมืองที่เป็นเมืองหลัก เมืองรอง และเมืองชายแดน ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย ส่วนภาคประชาสังคม ซึ่งอยู่ติดพื้นที่และได้รับผลกระทบโดยตรง รู้จักและเข้าใจพื้นที่ เมื่อเข้ามาร่วมพูดคุยก็จะได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากมิติส่วนอื่นๆ เพื่อจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนา ทำยุทธศาสตร์การพัฒนาและผลักดันในมุมของชุมชน ซึ่งในชุมชนมีกลุ่มเปราะบางจำนวนมากที่แทบไม่มีโอกาส ไม่มีส่วนหรือส่งเสียงในการทำแผนพัฒนาเมืองใดๆ เลย “และสุดท้ายคือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่รุนแรงและถี่ครั้งมากขึ้น การที่พื้นที่สีเขียวหายไป ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดิน เน้นการก่อสร้างแต่ระบบนิเวศน์
สูญเสีย” นายชาคริต กล่าว และว่า
ทั้งหมดนี้ล้วนอยู่ที่ทิศทางและนโยบายที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างปี 2500 ชุมชนแหลมสนอ่อนสงขลา รัฐมีนโยบายน้ำไหลไฟสว่างทางดี สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ต้องการพัฒนาสงขลาเป็นเมืองท่า มีอุตสาหกรรม ส่งเสริมเมืองทิ้งชนบท คนจนก็อพยพเข้ามาทำงานในเมืองเป็นกรรมกร ต้องบุกรุกพื้นที่หลวง ที่ของกรมธนารักษ์ กรมเจ้าท่า การรถไฟ ฯลฯ เพราะไม่มีที่อยู่ เกิดเป็นชุมชน
คนจนเมือง“นี่ก็เป็นตัวอย่างการพัฒนาที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจากนโยบายรัฐ เมื่อเกิดปัญหาทางธรรมชาติ ชุมชนต้องช่วยเหลือกันเอง หวังพึ่งพา
ภาครัฐได้ยากทั้งๆ ที่ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากนโยบายภาครัฐ นี่คือสิ่งที่เราพบจากการทำงานตลอดเวลาหลายปี” นายชาคริต กล่าว
น.ส.รัชณี บุญสกันท์ ตัวแทน Success เมืองพะตง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวว่า ชุมชนบ้านหลบมุมมีประชากรต่างด้าว ต่างถิ่นเข้ามาทำงานจำนวนมาก รวมทั้งคนในพื้นที่ มี 14 โรงงาน 5 โรงเรียนและมีกลุ่มเกษตรฯ ทำสวนยางพาราแต่เดิม ความเปราะบาง พบปัญหาภัยแล้งนานขึ้น ฤดูฝนสั้นลง แหล่งน้ำธรรมชาติหายไป และเนื่องจากเป็นที่ลุ่มต่ำ มักเกิดน้ำท่วมฉับพลัน การสร้างอาคาร ถนนทำให้เส้นทางน้ำเปลี่ยน ปัญหาบุกรุกที่ดินรถไฟ การเข้าถึงสิทธิบริหารขั้นพื้นฐานของประชากรแฝง ปัญหาการจัดการขยะ และปัญหาอาชญากรรมเพิ่มขึ้น

นางณัฐกฤตา อารมณฤทธิ์ ตัวแทน Success เมืองควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวว่า ควนลัง อยู่ใกล้เมืองหาดใหญ่ เดิมเป็นเมืองเกษตรทั้งหมด แต่ปัจจุบันมีความเป็นชุมชนเมืองเศรษฐกิจมากขึ้น อยู่ใกล้สนามบิน 10 ปีที่ผ่านมามีการเพิ่มของประชากรกว่า 71% ทำให้พื้นที่เกษตรลดลงไป 22% มีสายน้ำสองสายสำคัญคือ คลองวาดและคลองต่ำ ความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ
การมีอากาศร้อนเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำในคลองธรรมชาติลดลง ฝนทิ้งช่วง ฝายและอ่างเก็บน้ำของชลประทานน้ำลดลงทุกปี อาจมีภาวะการแย่งน้ำในอนาคต คลอง 1 ซ.ร.1 มีประสิทธิภาพระบายน้ำแต่ส่งผลดูดซับน้ำผิวดินลงคลองรวดเร็ว และทำให้เกิดน้ำหนุนขวางการไหลของน้ำคลองต่ำ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป