วชช.สงขลาตั้ง‘ธนาคารชันโรง’ ช่วยเกษตรกรขยายการเลี้ยง-แปรรูป

เฟรมข่าวไอเน็ท เว็บ เปลี่ยน 114

หนังสือพิมพ์ภูมิภาค รายสัปดาห์ ของคนใต้
ปีที่ 26 ฉบับที่ 1,332
วันที่ 29 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2567

418c9653 c4f7 4420 b719 94a8c3a133bf

“วิทยาลัยชุมชนสงขลา” ร่วม “วิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงผึ้งบ้านหัวถนน” นำร่องตั้ง “ธนาคารชันโรง” ช่วยเกษตรกร ขยายการเลี้ยงชันโรง และแปรรูปผลิตภัณฑ์จากชันโรง

22 เมษายน 2567 อ.ศุภมาส อยู่อริยะ และ
อ.พิพัฒน์พงษ์ หงษ์สัมฤทธิ์ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนสงขลา พร้อมด้วย นางสาวสหาบี สาหาด เจ้าหน้าที่จัดเก็บข้อมูลโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ ลงพื้นที่เพื่อวางแผนการดำเนินการจัดตั้งธนาคารชันโรง และการจัดทำฐานข้อมูลผู้ผลิตชันโรง ร่วมกับคณะกรรมการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงผึ้งบ้านหัวถนน ต.ปริก อ.สะเดา จ.สงขลา

messageImage 1713970010841 0

นอกจากนี้ได้มีแผนการดำเนินงานเพื่อจัดกิจกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากพรอพโพลิสในวันที่ 3 พ.ค.2567 จากนั้น ได้ลงพื้นที่ ณ วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวเชิงเกษตรสวนลุงใหญ่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดาจ.สงขลา เพื่อวางแผนการจัดกิจกรรมการทำฟีโรโมนล่อชันโรง ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 และวางแผนการจัดทำพื้นที่สำหรับการทำแหล่งเรียนรู้ชันโรงครบวงจร อ.ศุภมาส กล่าวว่า การจัดตั้งธนาคารชันโรง เป็นการช่วยเกษตรกรในกลุ่มที่เลี้ยงชันโรง การให้ข้อมูลความรู้แก่เกษตรกร และการรับฝาก-ถอน ในรูปแบบของการเลี้ยงชันโรงและสมาชิกในกลุ่มช่วยเหลือกัน “เช่น เกษตรกรสามารถมายืมรังชันโรงจากธนาคารชันโรง เพื่อนำไปเลี้ยงและขยายรังเพิ่มเติม ยกตัวอย่างว่า สมาชิกได้ยืมไปจำนวน 5 รัง ในระยะเวลา 1 ปี จากนั้น เกษตรกรที่ยืมก็นำรังทั้งหมดมาคืนธนาคารในระยะเวลาที่กำหนด พร้อมดอกเบี้ย นั่นคือ รังชันโรงอีก 2 รัง เพื่อธนาคารฯจะได้นำไปดำเนินงานตามภารกิจต่อไป” อ.ศุภมาส กล่าว และว่าการดำเนินงานของธนาคารชันโรง คล้ายกับธนาคารที่มีการรับฝาก-ถอน มีการให้สินเชื่อ แต่เป็นในรูปของชันโรง ซึ่งเริ่มต้นจากการประชุมพูดคุยและสรุปร่วมกันของ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงผึ้งบ้านหัวถนน” เป็นกลุ่มนำร่อง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับคณะกรรมการกลุ่ม จัดแบ่งฝ่ายการทำงาน รวมทั้งรับสมัครสมาชิกที่จะเข้าร่วมกับธนาคารชันโรงเมื่อสำเร็จแล้วก็จะขยายผลไปสู่การจัดทำธนาคารชันโรงในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

ซึ่งในพื้นที่อ.สะเดา ก็มีกลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงผึ้งชันโรงหลายกลุ่ม ประโยชน์ที่สมาชิกจะได้จากการจัดตั้งธนาคารชันโรงคือ การช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีที่ต้องการขยายและเพิ่มรังเลี้ยงผึ้งชันโรงให้มากขึ้น แต่ขาดทุนทรัพย์ เพราะการเลี้ยงชันโรงหนึ่งรัง พร้อมแม่พันธุ์ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,300-1,400 บาท ดังนั้น เมื่อเป็นสมาชิกของธนาคารฯแล้วก็สามารถยืมรังชันโรงพร้อมแม่พันธุ์จากธนาคารฯไปเลี้ยงขยาย เป็นทุนตั้งต้นหรือขยายจากที่เลี้ยงอยู่แล้วให้เพิ่มมากขึ้นได้โดยไม่ต้องลงทุนมากนัก

messageImage 1713970025504 0


“แนวคิดนี้ วิทยาลัยชุมชนสงขลา อาจารย์ที่รับผิดชอบ อ.พิพัฒน์พงษ์ ได้พูดคุยกันว่าจะช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างไร ให้สามารถขยายการเพาะเลี้ยงชันโรงได้มากขึ้น” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสวนที่มีความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์ไม้อยู่แล้ว เพราะโดยปกติกว่าจะได้ น้ำผึ้งชันโรงเกษตรกรต้องใช้เวลาในการเลี้ยงนาน ซึ่งหากมีรังจำนวนน้อยและต้องรอการขยายรังก็จะได้น้ำผึ้งไม่มากและใช้เวลานาน แต่หากให้เกษตรกรลงทุนซื้อรังพร้อมพันธุ์ ก็ต้องใช้เงินทุนที่มากพอสมควร ดังนั้น จึงได้คิดเรื่องการจัดตั้งธนาคารชันโรงขึ้นมา ซึ่งเกษตรกรอาจลงทุนซื้อแค่รังเปล่า ราคา 300-400 บาท ก็จะได้ขยายฟาร์มเลี้ยงได้รวดเร็ว หลังจากนี้ คือวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ก็จะประชุมสมาชิกในกลุ่มทั้งหมด 23 คน เพื่อสรรหาผู้จัดการธนาคาร ฝ่ายสินเชื่อ ฝ่ายผลิตขยายรัง ฯลฯ ทั้งหมดนี้เราได้พูดคุยปรึกษากันกับกลุ่มอื่นๆ ว่าจะจัดทำให้พื้นที่นี้เป็นแนวทางในการจัดตั้งของกลุ่มอื่นๆ ทั้งโครงสร้างและระเบียบของธนาคาร ซึ่งแต่ละแห่งก็อาจมีข้อแตกต่างกันบ้างตามความเหมาะสมของแต่ละแห่ง ซึ่งในพื้นที่อ.สะเดา มีกลุ่มที่ ต.ปาดังเบซาร์ และ ต.สำนักขาม


ปัจจุบัน นอกจากน้ำผึ้งชันโรงแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากชันโรงออกจำหน่าย เช่น สเปรย์กำจัดกลิ่น และกำลังขยายเป็น สเปรย์อเนกประสงค์ ใช้ฆ่าเชื้อทำความสะอาดสำหรับสัตว์เลี้ยง จัดทำสาร “ฟีโรโมน” เพื่อล่อให้ชันโรงเข้ารัง รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ในการป้องกันการเกิดเชื้อราในพืช เป็นต้น “มีเอกชน คือบริษัทเซฟสกิน เปิดบูทให้เราเข้าไปจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคน
เลี้ยงผึ้งบ้านหัวถนน เปิดให้คนที่สนใจเข้าเยี่ยมชม ดูงานการเพาะเลี้ยงชันโรงและแปรรูปผลิตภัณฑ์ของกลุ่มด้วย” อ.ศุภมาส กล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *