เลือก สว. 67 : กกต. แจงรายละเอียดขั้นตอน-เอกสารหลักฐานที่ต้องใช้แสดงในการสมัครรับเลือกเป็น สว.

สว เว็บ เปลี่ยน

อยากลงสมัครรับเลือกเป็น สว. ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง เอกสารหลักฐานใดบ้างที่ต้องมี ตรวจเช็คความพร้อมตั้งแต่ก่อนสมัครจนถึงการยื่นใบสมัคร

‘สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ที่ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม’

สว. จำนวน 200 คน นั้นมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม จำนวน 20 กลุ่ม

เมื่อผู้ที่ประสงค์สมัครรับเลือกเป็น สว. ทราบกลุ่มที่เหมาะสมกับตนเองแล้วในขั้นตอนต่อไป คือ การติดต่อขอรับแบบใบสมัคร และ การเตรียมเอกสารหลักฐาน

ซึ่งทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศกำหนดวันรับสมัครรับเลือก และวันเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ในแบบ สว. 1 (ภายใน 5 วันนับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามีผลใช้บังคับ)

ส่วนสถานที่ในการรับสมัครผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ จะประกาศสถานที่รับสมัครตามแบบ สว.อ.9 (ภายในวันถัดจากวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดวันรับสมัครรับเลือก(แบบ สว.1)) โดยผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอปิดประกาศแบบ สว.1 และแบบ สว.อ.9 ไว้ที่ว่าการอำเภอ และ เผยแพร่ทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

Final 03 ขั้นตอน และ เอกสารการลงสมัคร สว

ขั้นตอนก่อนการสมัครรับเลือก

ผู้ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกเป็น สว. สามารถไปติดต่อขอรับใบสมัคร พร้อมแบบข้อมูลแนะนำตัว และแบบหนังสือรับรองความรู้ฯ ด้วยตัวเอง ได้ที่สำนักทะเบียน

อำเภอทุกแห่ง หรือ สำนักทะเบียนท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ได้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2567

โดยต้องมีหลักฐานแสดงตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้

  • บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุ
  • บัตร หรือ หลักฐานอื่นที่ทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ โดยมีรูปถ่ายและเลขประจำตัวประชาชนของผู้ถือบัตร
  • หลักฐานภาพอิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดผ่านแอปพลิเคชันของหน่วยงานรัฐ

เมื่อผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็นสว. ติดต่อขอรับเอกสารการสมัครจากสำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่จะดำเนินการจัดเก็บข้อมูลของผู้ประสงค์จะสมัครไว้ในระบบบริหารจัดการการเลือก เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการจัดทำข้อมูลสำหรับการสมัครและการบริหารจัดการการเลือกแต่ละระดับต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อยืนยันตัวตนเรียบร้อย เจ้าหน้าที่จะมอบแบบเอกสารให้ผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือก ดังนี้

  1. แบบใบสมัคร (แบบ สว. 2)
  2. แบบข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร (แบบ สว. 3)
  3. แบบหนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์หรือทำงานในกลุ่มที่สมัคร (แบบ สว. 4)
  4. คู่มือสำหรับผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา

ผู้สมัครจะต้องกรอกข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วน พร้อมเตรียมเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อยื่นในวันรับสมัคร ประกอบด้วย

1. แบบใบสมัคร (แบบ สว.2)

2. ข้อความแนะนำตัว ความยาวไม่เกิน 5 บรรทัด (แบบ สว.3) ระบุข้อมูลส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประวัติทำงานหรือประสบการณ์

3. เอกสาร หรือ หลักฐานอันแสดงว่าตนมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านใดด้านหนึ่งตามกลุ่มผู้สมัคร (แบบ สว.4)

ทั้งนี้ ต้องมีผู้รับรอง 1 คน (ไม่สามารถรับรองตัวเองได้) และพยานลงลายมือชื่อรับรองอย่างน้อย 1 คน พร้อมสำเนาสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน

4. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน

5. สำเนาทะเบียนบ้าน

6. รูปถ่ายขนาด 8.5×13.5 ซม.(หน้าตรง อายุไม่เกิน 6เดือน) จำนวน 2 รูป

7. ใบรับรองแพทย์

8. หลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งแสดงว่า เกิด/มีชื่อในทะเบียนบ้าน/ทำงาน/เรียน/เคยทำงาน หรือ เคยมีชื่อในทะเบียนบ้าน ในอำเภอที่สมัครรับเลือกติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี

9. หลักฐานอื่นๆ เช่น หลักฐานลาออกหรือใบอนุญาตให้ลาออกกรณีกรณีเป็นข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ และ เอกสารแสดงการเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล(ถ้ามี) เป็นต้น

10. สำเนาหลักฐานอื่น ที่แสดงว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน ไม่มีลักษณะต้องห้ามและไม่เป็นผู้ถูกจำกัดสิทธิตามกฏหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือพรรคการเมือง

โดยผู้สมัครต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องและเป็นจริงของเอกสารและหลักฐานทุกฉบับทุกหน้า หากผู้สมัครลงลายมือชื่อไม่ได้ให้พิมพ์ลายนิ้วมือหัวแม่มือขวา  หากไม่มี ให้พิมพ์ลายนิ้วมือหัวแม่มือซ้าย หรือหากไม่มีนิ้วมืออยู่เลยก็ได้รับการยกเว้นและให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอหมายเหตุในเอกสาร

วันสมัครรับเลือก

ผู้สมัครต้องยื่นเอกสารและหลักฐานประกอบการรับสมัครด้วยตัวเอง พร้อมชำระค่าสมัคร 2,500 บาท ต่อผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอหรือผู้ช่วยฯ

เมื่อเจ้าหน้าได้รับใบสมัคร หลักฐานแล้วจะตรวจสอบเบื้องต้นว่าการลงรายการใน ใบสมัคร ค่าธรรมเนียม เอกสารและหลักฐานการสมัครครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ ขั้นตอนสุดท้ายเจ้าหน้าที่จะทำการออกใบรับสมัคร(แบบ สว.อ.10) และแบบข้อมูลแนะนำตัว (แบบ สว.อ.11) ให้

เมื่อได้รับเอกสารแบบ สว.อ.10 แล้วผู้สมัครจะไม่สามารถถอนการสมัครหรือลงสมัครในกลุ่มและอำเภออื่นได้อีก

เมื่อครบกำหนดเวลารับสมัครแล้ว ผู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอจะดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกทุกราย ก่อนประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. ภายใน 5 วัน นับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร

สำหรับกรณีผู้สมัครซึ่งไม่มีชื่อในประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครมีสิทธิ์ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลฎีกาภายใน 3 วันนับแต่วันที่ประกาศบัญชีรายชื่อ

ท้ังนี้หากมีข้อสงสัยเรื่องขั้นตอนและรายละเอียดการลงสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง https://www.ect.go.th/ect_th/th/db_119_ect_th_6/2967 หรือสอบถามได้ที่สายด่วน 1444

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *