“วชช.สงขลา” จัดกิจกรรมอบรมพัฒนาอาชีพตามฐานทรัพยากร 2 พื้นที่เป้าหมาย แปรรูป “ไข่เป็ด”เป็นผลิตภัณฑ์ สร้างงานผู้สูงวัย ทต.ระโนด พร้อมอนุรักษ์-ต่อยอดการปลูก “ข้าวเหนียวดำ” ให้ผู้ประกอบการ-กลุ่มสตรีบ้านทุ่งพอ อ.สะบ้าย้อย
17-19 ก.พ. 68 วิทยาลัยชุมชนสงขลา โดยอาจารย์ศุภพิชญ์ ดำนวล ครูชำนาญการพิเศษ อาจารย์กฤษณวรรณ เสวีพงศ์ ครูชำนาญการ และอาจารย์รำภู คงเพ็ชร นักวิชาการศึกษา จัดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรฝึกอบรมทักษะอาชีพสำหรับผู้สูงอายุ Module ด้านอาหารท้องถิ่น“ผลิตภัณฑ์ไข่เป็ดแปรรูป” ให้กลุ่มผู้สูงอายุโรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลตำบลระโนด 40 คน ภายใต้โครงการจัดการความรู้ ณ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุเทศบาลตำบลระโนด(อาคารสระอ้ายเล) อ.ระโนด จ.สงขลา
มี นางสาวอนงค์ แก้วนวล ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม เทศบาลตำบลระโนด ให้การต้อนรับและเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม นางสุภัควี นวลพริ้ง ข้าราชการบำนาญ (อดีตหัวหน้าฝ่ายสังคมสงเคราะห์ กองสวัสดิการสังคม เทศบาลตำบลระโนด)
เป็นผู้ประสานงานการอบรม


อาจารย์ศุภพิชญ์ กล่าวว่า การดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต การมีงานทำและมีรายได้ของผู้สูงอายุ ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุให้มีความรู้และความสามารถด้านการยกระดับฝีมือ (Up skill) ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์
โดยเริ่มจากที่เราถอดบทเรียนจากการทำกิจกรรมร่วมกับผู้สูงอายุโรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลตำบลระโนด ซึ่งอำเภอระโนด เป็นแหล่งที่เลี้ยงเป็ดไข่ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสงขลา โดยใช้หอย หัวกุ้งสดลูกปลาสด (ปลาเป็ด) ลูกปู เปลือกปู หรือสาหร่ายทะเลที่ได้จากทะเลสาบสงขลา เป็นอาหารเสริมให้เป็ดกินเป็นประจำ ทำให้ไข่มีคุณภาพและอุดมไปด้วยโภชนาการ สีสันน่ารับประทาน ฟองใหญ่ ไข่แดงสีแดงสด ไข่จะมันจากการกินข้าวเปลือกเหมาะสำหรับทำไข่เค็ม



“กิจกรรมการเรียนรู้ครั้งนี้ เป็นการฝึกปฏิบัติการ แปรรูปไข่เป็ดเป็นไข่เค็ม(สูตรดั้งเดิม) ไข่เค็มใบเตยกะทิสด ไข่แดงเค็ม ภูมิปัญญาในการถนอมอาหาร วิทยากรโดย นายไพทูรย์ พูลศรี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพะวง/ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน เรียนรู้และฝึกปฏิบัติการแปรรูปไข่เป็ดเป็นไข่ครอบ อาหารพื้นถิ่นของคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา และไส้กรอกไข่ขาวเพื่อสุขภาพ วิทยากรโดย นางสาวประไพ จินนะมงคล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทะเลสาบสงขลา” อาจารย์ศุภพิชญ์ กล่าว
อีกโครงการ คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากฐานทรัพยากร ข้าวเหนียวดำ ของดีบ้านทุ่งพอ @สะบ้าย้อย เพิ่มมูลค่าให้กับฐานทรัพยากร สร้างอาชีพ-รายได้ แก่กลุ่มสตรีในชุมชน นำโดย อาจารย์ศจีมาศ พูลทรัพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนสงขลา ดำเนินการจัดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการการแปรรูปผลิตภัณฑ์ “สบู่ข้าวเหนียวดำ”ให้กับกลุ่มสตรีบ้านทุ่งพอ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา


อาจารย์ศจีมาศ กล่าวว่า ต.ทุ่งพอเป็นอีกแหล่งที่มีของดี คือ “ข้าวเหนียวดำ” ที่เต็มไปด้วยคุณประโยชน์มากมาย ช่วยป้องกันโรคเหน็บชา บรรเทาอาการอ่อนเพลีย มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมสร้างส่วนที่สึกหรอ และเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย บำรุงผิวพรรณ
จึงนำมาสู่การจุดประกายในการเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวเหนียวดำ บ้านทุ่งพอ สู่ “ผลิตภัณฑ์สบู่จากข้าวเหนียวดำ” ประกอบไปด้วย สบู่ก้อนข้าวเหนียวดำ สบู่เหลวข้าวเหนียวดำ และ สครับขัดผิว
“กิจกรรมนี้ เริ่มจากการจุดประกายความคิดให้กับกลุ่มฯ เพิ่มมูลค่าให้กับข้าวเหนียวดำและสามารถพัฒนาให้เป็นอาชีพเสริม นำไปสู่การสร้างรายได้ในครัวเรือน จากทุนทรัพยากร ซึ่งหมู่ 3 เป็นหมู่บ้านเดียวที่ยังมีการปลูกข้าวเหนียวดำไร่กันอยู่ โดยใช้พื้นที่ยางพาราที่เพิ่งโค่นเป็นแปลงปลูก มีลักษณะพิเศษที่กลิ่นหอม เหมาะสำหรับทำข้าวหมาก และชุมชนทำขายกันอยู่มีออร์เดอร์ไม่พอกับความต้องการ” อาจารย์ศจีมาศ กล่าว และว่า
เราใช้ปลายข้าวจากการสีมาทำผลิตภัณฑ์สบู่ซึ่งเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์และต่อยอดทุนทรัพยากร คือการปลูกข้าวเหนียวดำไร่ของตำบล โดยช่วงแรกจะเน้นการลดรายจ่ายครัวเรือนของสมาชิกก่อน
การพัฒนากลุ่มสตรีบ้านทุ่งพอ อ.สะบ้าย้อยดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนาและยกระดับทุนฐานดำรงชีพ 5 มิติ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่จังหวัดสงขลาอย่างยั่งยืน ที่มี พท.อริณี การดีเจ้าหน้าที่แพทย์แผนไทย วิทยาลัยชุมชนสงขลา เป็นวิทยากรให้ความรู้ประโยชน์ของข้าวเหนียวดำและฝึกปฏิบัติการแปรรูปสบู่โดยมีข้าวเหนียวดำ เป็นส่วนประกอบ
“ด้วยความเป็นชุมชนมุสลิม มีประเพณีการแห่ขันหมาก ในอนาคตก็สามารถพัฒนาเป็นของชำร่วยสำหรับขันหมากได้ ขณะนี้อยู่ในระยะเริ่มต้นและทาง กลุ่มฯ เริ่มเปิดรับออร์เดอร์ผ่านทางเพจของกลุ่ม” อาจารย์ศจีมาศ กล่าว


