จังหวัดปัตตานี เดินหน้าพัฒนาวิชาชีพกลุ่มสตรี ผลิตอาหารทะเลแปรรูปบ้านเล 30 กลุ่ม ผลิตผ้าพื้นถิ่น ร่วมสืบสานเครื่องปั้นดินเผาบ้านกูบังบาเดาะ “ผู้ว่าฯพาตีเมาะ” ชี้ความร่วมมือกับคณาจารย์ ม.อ. พัฒนาครูตาดีกาเท่าทันสถานการณ์โลกปัจจุบัน
นางพาตีเมะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวถึงการจัดทำโครงการสถาบันพัฒนาผู้หญิงว่า ต่อเนื่องจากปีที่แล้วเราเริ่มต้นตั้งคณะทำงานขึ้นมา ปัจจุบันเข้าสู่การทำกิจกรรมลงพื้นที่ พ่วงกิจกรรมต่างๆ ล่าสุด เข้าไปร่วมเปิดพื้นที่พูดคุยกับกลุ่มพี่น้องที่สอนศาสนาที่เป็นผู้หญิง เช่น กลุ่มครูตาดีกา เอาระบบ EF ลงไปร่วมกับหน่วยงานภาคท้องถิ่นเช่น การพัฒนาด้านอาหาร ก็ไปสู่การต่อยอดด้านอาชีพของประชาชน เช่น กลุ่มบ้านเล ซึ่งขณะนี้เขาได้เข้าสู่การทำการตลาด โดยได้รับการคัดเลือกโดย Thai PBS นำเสนอน้ำพริกชาวเล ที่มีจุดเด่นแคลเซียมสูง

“การขยับขับเคลื่อนเรายังใช้วิธีผ่านองค์กรสตรีของเราในพื้นที่ นี่เป็นความก้าวหน้าปัจจุบันที่เราได้ทำมาจากที่เราได้นำเสนอแนวทางในรูปของคณะทำงาน” ผู้ว่าฯพาตีเมาะ กล่าว และว่าล่าสุด เรากำหนดประชุมประเมินผลการทำงานโดยเลื่อนออกไปก่อนจากภารกิจเร่งด่วน แต่การทำงานส่วนใหญ่จะไปสู่ในส่วนของการพัฒนาตามประเด็นอาชีพที่เขาขยับขับเคลื่อนกันอยู่ แบ่งออกเป็น ด้านอาชีพทางทะเล การผลิต การแปรรูปอาหารทะเล
“กลุ่มผลิตผ้าที่เรามี 30 กลุ่ม กำลังเผยแพร่กันอยู่ ในวันที่ 12-23 มิถุนายนนี้ เราจะขยายผลทั้ง 30 กลุ่มไปสู่การออกแบบ ดีไซน์ ตัดเย็บ และการใช้ผ้าของพื้นถิ่น เพื่อนำเสนอศิลปกรรมการอาชีพของผู้หญิง” อีกกลุ่มคือ กลุ่มผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาบ้านกูบังบาเดาะ อ.มายอ สืบสานและขยายการผลิต เนื่องจากแต่เดิม “เมาะจิ” เจ้าของเดิมเริ่มอายุมาก เราจึงเข้าไปสนับสนุนและขยายผลเพื่อลูกหลานของท่านได้สืบทอดต่อไป เน้นการพัฒนาอาชีพสำหรับผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ อีกส่วนที่เราทำคือ เรื่องการศึกษาสำหรับเยาวชนในท้องถิ่น โดยการพัฒนาครูผู้สอนโรงเรียนตาดีกา ซึ่งครูส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้หญิง คือ อุสตาซะฮ์ เราก็พูดคุยกันในการพัฒนาทางความคิด พลังการสร้างสรรค์ การพัฒนาในเชิงบวก เป็นอีกกิจกรรมที่เรากำลังทำแผนงานจัดอบรมครูหรืออุสตาซะฮ์ โดยวางแผนเริ่มกิจกรรมในเดือนกรกฎาคม สิงหาคม และกันยายนนี้ โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) ในการจัดหลักสูตรอบรม



“เราเน้นที่ครูผู้หญิงที่สอนโรงเรียนตาดีกาในจังหวัดปัตตานี โดยผนวกไปกับการทำงานวิจัย โดยอาจารย์จากม.อ. ซึ่งในล็อตแรกก็จะเริ่มปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ เป็นการทดลองพูดคุยกันในเชิงการพัฒนาความรู้รูปแบบใหม่ๆ ในการพัฒนาหล่อหลอมความคิดของคนและสังคม ร่วมกับครูตาดีกา”
ผู้ว่าฯพาตีเมาะ กล่าวต่อว่า ในแต่ละโรงเรียนจะมีครูตาดีกา 5-6 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง โดยเราจะเชิญมาโรงเรียนละ 2 คน เริ่มด้วยการเก็บข้อมูลจากงานวิจัยมาก่อน ร่วมกับคณะอาจารย์ของม.อ. โดยทำเรื่อง EF (Executive Functions) คือการพัฒนาสติปัญญาด้านบวกคนมนุษย์เข้ามา แต่ในเรื่องการเรียนการสอนก็ยังเป็นหลักสูตรของตาดีกา เพียงแต่เราจะหากระบวนการวิธีการอะไรที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับความเป็นสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน โดยใช้EF หรือความสามารถของสมองในการควบคุมความคิด พฤติกรรม เพื่อสามารถจัดการสิ่งต่างๆ ทั้งสามารถพัฒนาได้ตั้งแต่วัยเด็ก ส่งผลต่อการเรียนรู้
และการใช้ชีวิตประจำวัน อีกหลักสูตรคือ IEF (Islam Executive Functions)
คือการสร้างสรรค์ทางความคิดในรูปแบบอิสลาม ให้กับครู ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ ที่ได้ทำการทดลองดำเนินการจริง ยกตัวอย่าง เรามี 30 โรงเรียนเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ให้เยาวชนเท่าทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นการหนุนเสริมการเรียนการสอนของครูในชุมชน โดยใช้หลักวิชาการและงานวิจัยเข้ามาเป็นแกนหลัก
“ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการจัดทำเนื้อหาและรูปแบบกิจกรรมเพื่อให้มีความสอดคล้องและสมดุล”โดยเริ่มจากครูตาดีการุ่นแรก 60 คน เข้าสู่กระบวนการฝึกอบรม แล้วมาดูกับอีกส่วนที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการอบรมจะเป็นอย่างไร มีผลต่อการเรียนรู้ใหม่ๆ ส่งผลต่อคุณครูและนักเรียนอย่างไร
“ความจริงกิจกรรมนี้เราได้จัดทำไปแล้วกับครูในศูนย์อบรมเด็กก่อนวัยเรียนของรัฐ ก็มาคิดว่าหากครูตาดีกามีโอกาสเรียนรู้กระบวนการพัฒนาด้านวิชาการความรู้ที่มาจากการเก็บข้อมูลและเป็นการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์พัฒนาเยาวชนก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี”
ในระยะเริ่มแรก จะจัดทำในพื้นที่อ.เมือง ก่อน ซึ่งโรงเรียนตาดีกาในอ.เมืองมี 70-80 โรง ก็จะเริ่มจาก ครู 60 คน จาก30 โรงเรียนก่อน เป็นการนำร่อง ซึ่งในเดือนมิ.ย.อยู่ในช่วงการพูดคุยทำความเข้าใจกับแต่ละโรงเรียน เป็นการนำเสนอแนวทางการพัฒนาการศึกษาสำหรับเยาวชน อุสตาซะฮ์ และผู้บริหารก็ร่วมแลกเปลี่ยนนำเสนอความคิดเห็น
“เราต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจกันของทุกฝ่ายก่อน ขณะนี้เป้าหมายและเนื้อหาสาระชัดเจนแล้ว” ผู้ว่าฯพาตีเมาะกล่าวด้วยว่า เจตนารมย์ของเราก็ต้องเกิดจากความสมัครใจของโรงเรียนและชุมชนด้วย เราวางโครงการจัดทำในอ.เมือง 2-3 รุ่น
หากตอบโจทย์การพัฒนา ก็จะขยายไปยังอำเภออื่นๆ ในปีต่อไป