Home » ข่าว » แสง ธรรมดา “นายหัวเพื่อชีวิต”

แสง ธรรมดา “นายหัวเพื่อชีวิต”

(นายหัวโฟกัส)

แสง ธรรมดา “นายหัวเพื่อชีวิต”

          ย้อนวันคืนรำลึกความหลัง “นายหัวแสง” หรือ “แสง ธรรมดา” ศิลปินระดับตำนานของประเทศชาวเมืองสงขลา วันฝนตกพรำ ยินเสียงลำธารไหลแผ่วเบาอยู่ข้างร้านที่ล้อมรอบด้วยขุนเขาแห่งเมืองนาหม่อม บ้านนายหัวหลังใหม่ชื่อ “แสงธรรมดาโฮมคาเฟ่” ตั้งอยู่นาหม่อมริมทางเข้าเมืองหาดใหญ่ เราจิบกาแฟกรุ่นหอมภายในร้านซึ่งเชื่อมต่อกับบ้าน บ้านที่เจ้าของบอกว่าเป็นทำเลที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมี

นายหัวแสง หรือ พี่แสง เล่าถึงครั้งหนึ่งสมัยเล่นดนตรีในเมืองหลวง หลังจากออกมาจากป่าจากเหตุการณ์  6 ตุลา 2519  พร้อมบทเพลงที่แต่งขณะอยู่ในพงไพร และเริ่มมีชื่อเสียงจากการเขียนเพลงขายให้กับค่ายเทป “เจ้าของค่ายเทป(สมัยนั้น)สนับสนุนงานดนตรีของเรา เขาก็เอาชื่อเพื่อใช้ในวงการเพลงมาวางให้เลือก ล้วนแต่ฟังดูยิ่งใหญ่ใหญ่โตเสียทั้งนั้น ผมดูแล้วก็เลือกไม่ได้เพราะมันไม่ใช่เรา เลยบอกว่าไม่อยากใช้ชื่อแบบนี้ อยากมีชื่อที่ธรรมดาๆ ผมก็เลยเอาชื่อนี้แหละ ชื่อที่ฟังธรรมดา” พี่แสงย้อนรำลึกพลางก็หัวเราะ

“ตอนอยู่กรุงเทพเรามักไปขลุกกันอยู่ที่บ้าน “น้าซู” ระพินทร์ พุฒิชาติ ที่ถือเป็น “ตักศิลา” ของกลุ่มศิลปินแนวเพื่อชีวิต เป็นแหล่งคลุกคลีพูดคุยแต่งเพลงซ้อมดนตรีกันของพวกเรา จนผมกลับมาอยู่หาดใหญ่และเปิดร้าน “บ้านนายหัว” ครั้งแรกเมื่อปี 2540 ริมถนนประชายินดี (ช่องเขา) กลางเมืองหาดใหญ่ และปัจจุบันมาเปิดใหม่อีกครั้งที่นี่เมื่อต้นปี 2565”

“ผมมองว่าความสำเร็จของคนเรามีหลายด้าน คนอยู่ในระบบราชการก็แบบนึง หรืออาชีพอื่นๆ ก็เหมือนกัน แต่ละงานก็มีสูตรความสำเร็จของมันอยู่แล้ว ซึ่งก็ต่างกันไป ส่วนเรามันพวกหัวขบถ การที่เราจะเอาชนะเขาได้ก็อาจเป็นเพราะเราอยู่นอกกรอบของระบบ คิดและทำนอกกรอบที่ถูกบางสิ่งจำกัดเอาไว้”

หลากปัญหาการพัฒนา-สิ่งแวดล้อม

เราวกเข้าเรื่องการพัฒนาที่กำลังเป็นประเด็น “เราสู้ได้ในบางเรื่อง” นายหัวแสงว่า แววตายังมีไฟของการต่อสู้ เพราะแม้อายุล่วงกว่าหกสิบ แต่ไม่เคยพลาดเวทีรณรงค์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม “บางเรื่องก็อาจสู้ไม่ได้ก็ต้องดูกันไป แต่ที่เห็นพอที่จะสู้ได้ก็คือที่เขาคูหา อ.รัตภูมิ ที่สามารถยุติการระเบิดหินได้แม้ว่าจะยังไม่ยกเลิกสัญญา อีกส่วนหนึ่งก็คือที่พัทลุงมีโครงการจะสร้างเขื่อนเป็นสิบๆ เขื่อนเป็นโครงการที่ใหญ่มาก หรือโครงการนิคมอุตสาหกรรมที่จะนะกินพื้นที่กว่าหมื่นไร่ก็อยู่ระหว่างการต่อสู้ของประชาชนและผู้ที่ไม่เห็นด้วย”

 “หรือแม้กระทั่งเรื่องเขาแดง ซิงกอรา ที่สิงหนคร ก็ยังมีการต่อสู้กันในทุกมิติทั้งด้านกฎหมาย สังคม ด้านศิลปะวัฒนะธรรม อยู่ระหว่างการต่อสู้ซึ่งล่าช้ามากเพราะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภาคราชการ ที่ผ่านมา แทบไม่มีหน่วยงานใดกล้ารับเรื่อง เพราะเป็นการต่อสู้กับนักการเมือง เราจะเห็นว่า ในยุคนี้รัฐบาลชุดนี้เข้ามาควบคุมการทำงานของราชการหรือแม้กระทั่งหน่วยงานที่ให้ความยุติธรรมกับประชาชนโดยใช้กฎหมายจัดการได้ทั้งหมด”

“แต่ที่สุดแล้ว จะแพ้หรือชนะก็ขึ้นอยู่กับประชาชนว่ามีความตื่นตัวมากน้อยแค่ไหนในการลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของชาติผลประโยชน์ของประชาชนเอง ถ้าประชาชนลุกขึ้นมามากๆ ก็จะนำไปสู่ความสำเร็จได้แต่ถ้าพลังประชาชนน้อยหรือบางส่วนถูกอามิสสินจ้างด้วยผลประโยชน์ด้วยความจูงใจ แยกสลายประชาชน เช่นสัญญาว่าจะให้หุ้นกับผู้ที่สนับสนุนโครงการนิคมฯ เขาต้องการใช้สิ่งนี้เป็นกลไกในการหลอกลวงประชาชน เพื่อให้พลังในการต่อสู้น้อยลง”

“ในส่วนของโบราณสถาน สิงหนคร ที่ถูกบุกรุกก็มีการพยายามสร้างภาพให้กับตัวเอง จัดกิจกรรมคอนเสิร์ตกู้เอกราชสิ่งแวดล้อมขึ้นมาสู้กับฝ่ายที่ออกมาปกป้องโบราณสถาน ดึงศิลปินนักร้องนักดนตรีที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวมาเป็นพวกของตัวเอง จัดกิจกรรมขึ้นมาโดยอ้างการอนุรักษ์ ประกาศตัวว่า รักธรรมชาติสิ่งแวดล้อม หรืแม้แต่ที่ผาดำก็มีที่พยามเข้ามาจัดคอนเสิร์ตอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ นี่คืออีกมิติของเขาที่ใช้ในการต่อสู้”

“แน่นอนว่าการพัฒนามักทำลายสิ่งแวดล้อม รัฐต้องไม่เอานิคมอุตสาหกรรมเข้ามาในพื้นที่เอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนและทำลายสิ่งแวดล้อมและสังคม เพราะทุกวันนี้พื้นที่ภาคใต้เท่านั้นที่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ พื้นที่ภาคอื่นๆ ถูกทำลายหมดแล้ว การอ้างการพัฒนาของนายทุนไม่มีที่สิ้นสุดอยู่แล้ว ความปรารถนาของเขาไม่มีสิ้นสุด ได้สิ่งนี้ก็จะเอาสิ่งอื่นอีกต่อไปไม่มีคำว่าพอ ซึ่งก็ต้องทำลายสิ่งแวดล้อมต่อไปอีกเรื่อยๆ ถ้านิคมอุตสาหกรรมจะนะเกิดขึ้นมลภาวะจะยิ่งรุนแรงมากกว่าที่มาบตาพุด แล้วไม่ได้อยู่แค่ตรงจะนะ มันกระจายไปทั่ว น้ำเสียก็ไปถึงหาดสมิหลา สิงหานคร เพราะเป็นทะเลเดียวกันไปถึงปัตตานี มาเลเซีย มลพิษจากฝุ่นละอองควันก็มาถึงหาดใหญ่ ใครที่คิดว่าอยู่ไกลนั้นคิดผิดมากเพราะเขาไม่มีข้อมูลเพียงพอไม่รู้หลักความเป็นจริง ทุกคนได้รับผลกระทบทั้งจังหวัด”

การเมืองรุ่นใหม่ไม่ใช่แฟชั่น

“คนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาสนใจการเมืองก็ต้องศึกษาโครงสร้างของสังคม บริบทของสังคมให้มากกว่านี้ คนหนุ่มสาวบางส่วนอาจจะสู้ไปตามกระแส ต่างกับสมัยก่อนก่อน กว่าจะเป็น 14 ตุลาใช้เวลาหลายปี ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มาจนยุค จอมพลถนอม กิตติขจร เขามีการศึกษาที่ลงลึก มีรากความเข้าใจบริบทของสังคมที่แน่น มีทฤษฎีที่แม่นยำเข้าใจปัญหาสำคัญๆ ของประเทศ แต่คนรุ่นใหม่สมัยนี้เข้าใจสิ่งเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน เข้าใจและยอมรับข้อมูลของคนรุ่นเก่ามากน้อยแค่ไหนก็กลัวว่าจะเป็นแค่กระแสนิยม แล้วก็หายไป”

-เฟาซ์  เฉมเร๊ะ-

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *