7 ธันวาคม 2566 เวลา 18.00 น. ศูนย์อำนวยการ แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบจังหวัดสงขลา ได้สรุปข้อมูลการลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบ ของจังหวัดสงขลา รวม 16 อำเภอ ที่เป็นการลงทะเบียนเพื่อขอรับการช่วยเหลือ แก้ปัญหา หนี้นอกระบบ
โดยมียอดสะสม ตั้งแต่วันที่ 1-7 ธันวาคม 2566 ดังนี้ ประชาชนที่ลงทะเบียน 3,158 ราย มีเจ้าหนี้ 2,008 ราย และยอดหนี้ 180,254,275.64 บาท
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการกู้หนี้ ใช้จ่าย /นำเงินไปต่อเติมที่พักอาศัย /ค่าเทอมลูก และการพนัน ส่วนการขอความช่วยเหลือจากรัฐในการลงทะเบียนนั้น ส่วนใหญ่ ต้องการให้มีการเจรจากับเจ้าหนี้ หาแหล่งเงินกู้ และหาอาชีพเสริม
ขณะที่ แหล่งข่าว ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่อส.สังกัดอำเภอเทพา เผยว่า ปัจจุบันเจ้าหน้าที่อส.เทพา ซึ่งมีกว่า 280 คน หรือกว่าครึ่งกองร้อย เป็นหนี้นอกระบบ โดยกู้เงินมาจาก “เจ๊นี” นายทุนเงินกู้นอกระบบในอำเภอเทพาและพื้นที่ใกล้เคียง ลูกหนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าหน้าที่อส.และข้าราชการตำรวจและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง
“เพียงใช้บัตร ATM เป็นหลักประกัน เจ๊เขาจะให้กู้วงเงินตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อย 10 -20 ต่อเดือน” แหล่งข่าวกล่าว
เช่นเดียวกับ นายเอก(นามสมมุติ) เจ้าหน้าที่อส.อำเภอเทพา ที่กล่าวว่า เป็นอส.สังกัดอำเภอเทพามากว่า 2 ปี มีรายได้ประมาณ 17,500 บาทต่อเดือน แต่ด้วยภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวไม่เพียงพอ จึงตัดสินใจ
ไปกู้เงินจาก “เจ๊นี” 50,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 10 โดยใช้บัตร ATM เป็นหลักค้ำประกันเพื่อนำไปกดเงินเป็นค่าดอกเบี้ยเดือนละ 5,000 บาท ทุกเดือน
“เสียเฉพาะดอกเบี้ยมาเกือบ 2 ปีแล้ว” นายเอก กล่าว และว่า
นโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นนโนบายที่ดี แต่คงไม่สามารถแก้ไขได้เนื่องจากความแตกต่างของพื้นฐานทางครอบครัวที่แต่ละคนไม่เหมือนกัน
นายเอก ยืนยันว่า จะไม่ไปลงทะเบียนเพราะกลัวอิทธิพลของนายทุนเงินกู้
เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยัง นายนันต์อินทร์ ศิริรัตน์ ปลัดอาวุโส อำเภอเทพา เพื่อสอบถามประเด็นดังกล่าว แต่นายนันต์อินทร์ ปฎิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ และขอตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจรืง จากเจ้าหน้าที่ก่อน