หนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส ปีที่ 26 ฉบับที่ 1,318 วันที่ 15 – 21 มกราคม 2567
สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ จับมือ กยท. และม.อ. หวัง สร้างต้นแบบ-ขยายขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

5 มกราคม 2567 ณ ห้องประชุม 210 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)
และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.)
โดยมี ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการ (บอร์ด) กยท. เป็นสักขีพยานในการลงนาม ระหว่าง นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ กยท. นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการ สถาบันคุณวฒิวิชาชีพ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี ม.อ. อธิการบดี ม.อ. กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้ เป็นการร่วมประสานพลังกันทำงานเพื่อประเทศชาติ เพื่อยกระดับสมรรถนะ สร้างต้นทุนของทรัพยากรบุคคล ผ่านการศึกษา การพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการบ่มเพาะความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ ก่อให้เกิดการพัฒนาคนในทุกช่วงวัยของประเทศ เชื่อมโยงไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างต้นแบบการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคม ชุมชนโดยที่ ม.อ. มีจุดมุ่งหมายยกระดับมหาวิทยาลัยไปสู่ “มหาวิทยาลัยแห่งคุณค่า”
“ขอขอบคุณ ทั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และการยางแห่งประเทศไทย ที่เห็นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นเครือข่ายที่สำคัญ ในการสนับสนุน และช่วยกันทำงานเพื่อพัฒนาสังคมและประเทศชาติต่อไป” อธิการบดี ม.อ. กล่าว
ดร.เพิก เลิศวังพง เผยถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า เป็นโอกาสดีของ กยท. ในการพัฒนาศักยภาพของผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพาราในสังกัด กยท. ทั่วประเทศ ให้มีความรู้ความเข้าใจในด้านเกษตรกรรมการเพาะปลูกยางพาราอย่างถูกต้องตามหลัก
วิชาการและสภาพการณ์ปัจจุบัน ตามมาตรฐานของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ

ซึ่งสามารถนำความรู้ดังกล่าวไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อพัฒนาการจัดการสวนยางให้เกิดประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้ผลผลิตยางพารามีคุณภาพตามมา “แน่นอนว่าจะสามารถเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้แก่ชาวสวนยางไทย นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน กยท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า MOU ในครั้งนี้จะขยายผลต่อยอดไปสู่ความร่วมมืออื่นๆ ในอนาคต” ดร.เพิก กล่าว
นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล เผยถึงความร่วมมือใน
ครั้งนี้ว่า ทั้ง 3 ภาคส่วนมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพารา มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพาราระดับครัวเรือนสามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน ทั้งยังส่งเสริมการจัดการสวนยางพาราให้มีมาตรฐาน เพื่อยกระดับการปฏิบัติงานสู่มาตรฐานสากล
“ที่ผ่านมา กยท. ส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพาราในสังกัด เข้าร่วมการฝึกอบรมและประเมินสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพในสาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานให้ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืนตลอดจนประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่ได้ทำร่วมกัน เพื่อสร้างการรับรู้และการยอมรับในระบบคุณวุฒิวิชาชีพมาอย่างต่อเนื่อง และจะยังคงผลักดันการดำเนินงานดังกล่าวต่อไป” นายสุขทัศน์ กล่าว และว่า
การร่วมมือกันครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมและบ่มเพาะความรู้ ความสามารถ ทักษะ ประสบการณ์ ของ
ผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพารา โดยสามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นต้นแบบการเรียนรู้สู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้