‘ธุรกิจใหม่’มุมมองคนรุ่นใหม่ฟื้น“สาย๑-๒”เมืองหาดใหญ่

เฟรมข่าวไอเน็ท เว็บ เปลี่ยน 60


เปิดมุมมองนักธุรกิจรุ่นใหม่หาดใหญ่ ผ่านวงเสวนา ปัจฉิมบท “หนังสืออนุสรณ์ ๑๔๐ ปี ชาตกาล พระเสน่หามนตรี”

“อยากทราบมุมมองของคนรุ่นใหม่ว่า มีความคิดเห็นอย่างไรต่อการพัฒนาเมืองหาดใหญ่ในปัจจุบัน และอนาคต เพื่อที่จะทำให้เนื้อหาของหนังสือมีความสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งจะมีเรื่องราวถึงสามยุคสมัยในเล่มเดียวกัน”
นายวรวุฒิ ตันวิสุทธิ์ (คุณยุ้ย) เจ้าของศูนย์การค้าสเน่หาพลาซ่า ถนนสเน่หาอนุสรณ์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ผู้เป็น “หลานตา” พระเสน่หามนตรี (ชื่น สุคนธหงส์) อดีตนายอำเภอเหนือ (ชื่อเดิมของอำเภอหาดใหญ่) จังหวัดสงขลา ช่วงปี พ.ศ.๒๔๕๘ – ๒๕๐๐ กล่าวถึงการร่วมกับ “สงขลาโฟกัส” จัดเสวนา ปัจฉิมบท “หนังสืออนุสรณ์ ๑๔๐ ปีชาตกาล พระสเน่หามนตรี” ณ PLAY GELATO ไอศกรีมเจลาโต้โฮมเมด ถนนนิพัทธ์อุทิศ ๑ เทศบาลนครหาดใหญ่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งในการจัดทำ “หนังสืออนุสรณ์ ๑๔๐ ปี ชาตกาล พระสเน่หามนตรี” กล่าว และว่า

LINE ALBUM เสวนา หนังสืออนุสรณ์ ๑๔๐ ปี ๒๔๐๒๐๗ 1 0


เดิมหนังสือที่จะจัดพิมพ์ขึ้นมีเจตนาเพื่อที่จะให้ผู้ที่สนใจประวัติเมืองหาดใหญ่ได้ทราบถึงที่มาของผังเมือง การตัดถนน และการตั้งชื่อถนน เมื่อแรกเริ่มจนถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ ด้วยข้อมูลอีกด้านหนึ่งนอกเหนือไปจากข้อมูลที่มีการเผยแพร่อยู่ในปัจจุบัน
“ผมได้รับการบันดาลใจจาก ท่านเถกิงศักดิ์ พัฒโน อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ซึ่งครอบครัวของท่านเป็นคนพื้นถิ่นหาดใหญ่ ท่านได้ทำการรวบรวมประวัติหาดใหญ่ไว้ก่อนหน้านี้บ้างแล้วในหนังสือหาดใหญ่ไม่ไร้ราก แต่เสียดายที่ท่านพึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปลายปีนี้เอง ท่านเป็นผู้นำแผนผังแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลตำบลหาดใหญ่ พ.ศ. ๒๔๗๘ มาสอบถามผมว่า ที่ดินของพระเสน่หามนตรี ซึ่งเป็นคุณตาของผมว่า อยู่ที่ตรงไหน เมื่อ พ. ศ.๒๕๕๗ ทำให้ผมเริ่มสนใจที่จะหาข้อมูลเพิ่ม จนได้เห็นว่า ข้อมูลที่มีอยู่ในเวลานั้นมีอยู่อย่างหลากหลาย บางข้อมูลก็ไม่ได้ตรงกับข้อมูลที่ครอบครัวผมมีอยู่”
เมื่อเริ่มลงมือทำการรวบรวมข้อมูลเพื่อที่จะสืบหาข้อเท็จจริง ทุกสิ่งทุกอย่างก็เกิดขึ้นราวปฏิหาร ข้อมูลต่าง ๆ ได้หลั่งไหลมา จนทำให้หนังสือเล่มนี้มีข้อมูลรอบด้านมากขึ้น

LINE ALBUM เสวนา หนังสืออนุสรณ์ ๑๔๐ ปี ๒๔๐๒๐๗ 16 0


“ผมได้นำข้อมูลที่รวบรวมมาได้นี้ หารือกับ คุณภูวสิษฎ์ สุขใส เจ้าของหนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส โดยการแนะนำของ อาจารย์สิทธิศักดิ์ ตันมงคล เพื่อจะจัดพิมพ์ และได้รับคำแนะนำจากคุณภูวสิษฎ์ว่า เนื่องจากคุณตาท่านเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ และปีทีแล้ว พ.ศ. ๒๕๖๖ เท่ากับคุณตาท่านมีอายุถึงวันนี้ ๑๔๐ ปี ควรที่จะให้หนังสือเล่มนี้เป็นอนุสรณ์ ๑๔๐ ปี ชาตกาล พระเสน่หามนตรี”
“ผมเห็นว่า หาดใหญ่เจริญรุ่งเรืองมาได้เพราะมีผู้ร่วมพัฒนาก่อสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ในที่ดินที่คุณตาท่านได้ซื้อมาในอดีต จึงคาดหวังที่จะให้ทุกท่านได้มีส่วนร่วมในหนังสือเล่มนี้” คุณยุ้ย กล่าว


ผู้ร่วมเสวนา ซึ่งหลัก ๆ เป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ บนถนนนิพัทธ์อุทิศ ๑ – ๒ นำโดย นายเทียนเทพ บุญโชควิทูร (แม็ค) เจ้าของร้าน PLAY GELATO ไอศกรีมเจลาโต้โฮมเมด กล่าวว่า ผมเกิดและโตกรุงเทพฯพ่อกับแม่เป็นคนสงขลา ที่ย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ ทุก ๆ ปี เมื่อมาหาดใหญ่กันทั้งครอบครัวจะตื่นเต้นกันมาก เดินเที่ยวตลาดกิมหยง และหลายๆแห่ง พอมีเหตุการณ์ไม่สงบ จึงไม่ค่อยได้มาอีก
ต่อมาได้มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ (เมืองเซาท์แธมตัน) ก็ชอบความเป็นเมืองแบบนั้น พอเรียนจบก็ไม่อยากอยู่ที่กรุงเทพฯ และได้กลับมาหาดใหญ่ เห็นบรรยากาศคล้าย ๆ กับเมืองที่เคยอยู่ที่อังกฤษ จึงอยากกลับมาทำกิจการเล็กๆ ที่นี่ โดยได้มีเพื่อนสิงคโปร์มาลงทุนด้วย ซึ่งเขากล่าวว่าอยากลงทุนกับเมืองหาดใหญ่ เพราะสิงคโปร์พัฒนาจากหมู่บ้านชาวประมง
“ได้คุยกับเพื่อนชาวสิงคโปร์เขาบอกประเทศสิงคโปร์จากเคยเป็นชุมชนประมง แต่เวลา 50 ปีสามารถพัฒนาจนเป็นปัจจุบันได้ เขาเลยเชื่อว่าหาดใหญ่ก็มีศักยภาพที่น่าจะพัฒนาอย่างนั้นได้ พอมาเจอ “ลุงยุ้ย” ยิ่งได้รู้ความเป็นมาของเมืองหาดใหญ่มากขึ้น จากการเริ่มสร้างเมืองจากป่าก็ยิ่งทำให้เรามองเห็นโอกาส”

LINE ALBUM เสวนา หนังสืออนุสรณ์ ๑๔๐ ปี ๒๔๐๒๐๗ 2 0


ผมมีภาพของเมืองที่อยากให้เกิดขึ้นและทำในสิ่งที่ผมเชื่อ เมื่อสองปีที่แล้วก่อนผมตั้งร้านนี้ขึ้นมาในตอนนั้นยังมีคำถามจากคนที่นี่ว่ามั่นใจหรอที่เปิดร้านตรงนี้ เพราะตรงนี้เงียบมานานมาก แต่ในปัจจุบันก็มีร้านเปิดใหม่เพิ่มเติมมาเรื่อยๆ ความน่าสนใจของถนน ๓ เส้น(นิพัทธ์อุทิศ ๑ – ๓) น่าจะพัฒนาได้ จากภาพที่เราเคยเห็นมาจากเมืองนอก
ผมศึกษาหาดใหญ่มีนโยบายพัฒนาหลายอย่างเช่น สมาร์ทซิตี้ ไมซ์ซิตี้ ฯลฯ แต่ก็ยังไม่มีประกาศทิศทางที่ชัดเจน ผมจึงทำร้านเจลาโต้ขึ้นมาชื่อ Play Gelato เพื่อเล่นกับเมืองผ่านไอศกรีม เช่นการนำวัตถุดิบท้องถิ่นมาใช้ทำรสชาติไอศครีม หรือ collab กับร้านค้าต่างๆ ให้ผู้คนลูกค้าคิดรสชาติ มีworkshop สอนทำเจลาโต้ หรือนำให้เจลาโต้เข้าไปอยู่ในงานกิจกรรมต่างๆ และพร้อมพัฒนาร่วมไปกับความเป็นเมืองในทุกรูปแบบ ทั้งสมาร์ทซิตี้ ไมซ์ซิตี้ หรือ เช่น Medical tourism การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เราก็สามารถทำไอศกรีมที่ผู้ป่วยสามารถทานได้
“ผมมีเพื่อนทำงานอยู่ใน alibaba เขาก็มองว่าอยากมาสำรวจตลาดที่นี่ เพราะเห็นพูดถึง smart city แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่ามีการเก็บข้อมูล data ในเมืองมากน้อยแค่ไหนเพื่อให้ศึกษา และพัฒนาต่อ แต่จากความพร้อมด้านๆ ต่าง ด้วย facilities ของเมือง เขาก็คิดว่ามีโอกาส
แม็ค กล่าวด้วยว่า ความเจริญของเมืองมาจากคน คนในอยากอยู่ คนนอกอยากเข้ามา หากมีข้อมูลมากขึ้น ธุรกิจ การลงทุนก็จะเข้ามา ทำให้เป็นเมืองแห่งโอกาสของคนทุกคน


สำหรับปัญหาของเมืองนั้น แม็ค กล่าวว่าคือ ถ้ามีการกำหนดทิศทางของเมืองให้ชัดเจน หาจุดเด่นที่จะผลักดัน ส่วนต่างๆก็จะตามมา เช่น ถ้าอยากให้ smart city เมืองอัจฉริยะ วันนี้ก็อาจจะต้องเริ่มมีการรวบรวมข้อมูล เป็นข้อมูลของรัฐที่สามารถเปิดเผย และประชาชนหรือ ร้านค้า ธุรกิจภาคเอกชนก็สามารถเอาไปใช้พัฒนาต่อได้ นำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อพัฒนาเมือง โดยมีรัฐสนับสนุนและรักษาความปลอดภัยของข้อมูล


นายกิตติศักดิ์ กิจรุ่งโรจน์ (หนึ่ง) ร้าน pewter tag patisserie กล่าวว่า มาทำงานที่หาดใหญ่กว่าสิบปี
และเพิ่งเริ่มกิจการเป็นของตนเอง ในพื้นที่สาย ๑ – ๒ ที่เหมือนกับขาดการพัฒนา
“การเคลื่อนย้ายพื้นที่ความเจริญเป็นโอกาสสำหรับคนใหม่ๆ อยากให้มีคนรุ่นใหม่มาสร้างกิจการเยอะ ๆ แต่ต้นทุนด้านสถานที่สูง เจ้าของพื้นที่ต้องไม่ติดค่าเช่าไม่สูงนัก และเชื่อว่าพื้นที่นี้น่าสนใจ จะมีเพื่อนๆ ที่รู้จักมาทำธุรกิจมากขึ้น” หนึ่ง กล่าว และว่า
อยากให้ที่นี่เหมือนบางพื้นที่ เช่น ถนนนานา หรือชานเมืองกรุงเทพฯ อย่างเมืองทองฯ ที่มีร้านค้าเยอะๆ เป็นฮับของเมืองที่มีคนเข้ามา ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและคนรุ่นใหม่
นางสาวณัฐชญา ตันติเดชามงคล (มด) ร้าน Papardaylay กล่าวว่า เกิดที่นี่ เห็นมาตั้งแต่เด็กจนโต อยากให้เป็นถนนที่คนสามารถเดินชมสิ่งต่างๆ ได้ตลอดทั้งสาย และเชื่อว่าถนนสาย ๑ – ๓ มีความน่าสนใจ
นางสาวนัทิธมัน ชัยมงคลานนท์ (มุย) ร้าน the second and niban katsu กล่าวว่า เริ่มทำร้านจริงจังหลังจากวิกฤติโรคระบาดโควิด -๑๙ ซึ่งแทบไม่มีคนเดิน และได้รู้จักเพื่อนๆ มากขึ้น“เห็นด้วยกับคุณหนึ่งที่เราต้องร่วมมือกัน และภาครัฐควรต้องเข้ามาสนับสนุนด้วย” มุย กล่าว
นางสาวพลอยไพลิน อุดมศิลป์ (พลอย) ร้าน charlotte doughnut กล่าวว่า ช่วงเปิดร้านที่ถนนนิพัทธ์อุทิศ ๒ แทบไม่มีคนเดินเลย จนวันนี้เริ่มมีมากขึ้น มองว่าภาครัฐต้องเข้ามาร่วมมือกับคนทำธุรกิจใหม่ๆ ด้วย
“ภูเก็ตพัฒนาไปมาก ก็เพราะติดทะเล หากหาดใหญ่ได้พัฒนาเมืองเชื่อมโยงกับเมืองสงขลาและมีนักธุรกิจเข้าไปพัฒนามากขึ้น น่าจะดี” พลอย กล่าว
นายภัฎ รักษ์วอนธนา (นอท) ร้าน Hes Ldl Seen กล่าวว่า ปกติเป็นคนทำงานศิลป์/ดีไซน์ และมาทำกิจกรรมที่หาดใหญ่กว่าสิบปี ทั้งที่ถนนเสน่หาฯ ลีการ์เด้นส์ ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐบ้าง แม้จะเพียงเล็กน้อย แต่เราก็รู้สึกว่ามันช่วยเราได้มาก
“เมื่อก่อนย่านนี้เจ้าของเดิมจะย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ และที่ดินราคาสุง คนที่จะมาทำใหม่ก็ไม่สามารถลงทุนได้ ย่านนี้จึงขาดการพัฒนา ในรอบ ๓๐ ปีที่ผ่านมา” นอท กล่าว และว่า


อีกปัญหาคือ การจัดการท่องเที่ยวที่ขาดการจัดการที่ดี เช่น ที่จอดรถแทบหาไม่ได้ในย่านนี้ อยากให้มีนโยบายจัดโซนนิ่ง เช่น โซนของคนรุ่นใหม่ ความมีรสนิยม ความทันสมัยที่มีลักษณะอีกรูปแบบเกิดขึ้น ตอนนี้เรากลับมาเริ่มคิดกันว่าเราจะอยู่กับการท่องเที่ยว เมืองท่องเที่ยวขนาดใหญ่ หรือเลือกคุณภาพชีวิตของคนเมืองปัญหาคือ นโยบายการท่องเที่ยวแบบเก่าที่ยังไม่สมดุลกับโลกยุคใหม่ และคนรุ่นใหม่ เช่น การท่องเที่ยวเชิงท้องถิ่น การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่พื้นที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนมากพอ ซึ่งการท่องเที่ยวแบบใหม่นี้จะมีความยั่งยืนมากในอนาคต และต้องสร้างพื้นที่ให้สอดรับการแนวทางใหม่ด้วย


การมีเทศบัญญัติ มีกฎหมายโซนนิ่งที่ชัดเจน มีถนนที่สามารถเดินได้อย่างเพลิดเพลิน ไม่มีสิ่งกีดขวาง เป็นเมืองแห่งการเดินจริงๆ ทำอย่างไรให้คุณภาพชีวิตคนเมืองดี มีพื้นที่น่าอยู่ น่าอาศัย และทำให้นักท่องเที่ยวอยากเข้ามาเยี่ยมชมด้วย
รวมถึงการทำประวัติของเมือง และทำให้คนรุ่นใหม่สามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ได้เพื่อพัฒนาเมือง พัฒนาการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ๆ


นายศุภกิตต์ ภู่อมร (เอส) เจ้าของร้านบันไดแดง กล่าวว่า พ่อกับแม่เป็นคนหาดใหญ่ ผมไปอยู่กรุงเทพฯ และเติบโตที่สิงคโปร์ กลับมาอยู่หาดใหญ่ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งถนนนิพัทธ์อุทิศ ๑ และ ๒ เงียบมาก
ผ่านมาหลายปีเริ่มมีร้านใหม่ๆ เปิดมากขึ้น เห็นนักท่องเที่ยวชาวมาเลย์เดินมากขึ้น เพราะมีโรงแรมหลายแห่งที่นี่ จึงสนใจธุรกิจร้านอาหาร เริ่มจากร้านส้มตำ จากเดิมทำหมู่บ้านจัดสรรแถวคลองแห
“สายสองมีคนรุ่นใหม่เปิดร้านเยอะขึ้น ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ช่วยสร้างเหตุผลในการเดินมากขึ้น ทั้งสามสายมีรถวิ่งเยอะมาก ยิ่งกลางคืนก็มากขึ้น แต่ไม่มีรถจอด เราก็มาช่วยสร้างเหตุผลให้นักท่องเที่ยวมาแวด มาจอดรถ ก็จะมีโอกาสในการทำธุรกิจในโซนนี้” เอส กล่าว และว่า อนาคตอยากเห็นที่นี่เป็นศูนย์รวมทุกเหตุผลที่มีความหลากหลาย ทั้งแหล่งช็อปปิ้ง อาหารการกิน
และบริการต่างๆ ให้คนมาเที่ยวโซนนี้มากขึ้น


ส่วนปัญหาที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนคือพื้นที่จอดรถที่ไม่เพียงพอ ทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วต้องออกไปรอบนอก เพราะมีความสะดวกกว่าในการจอดรถ หรือพัฒนาระบบขนส่งในเมืองให้มีความสะดวกในการเดินทาง ก็จะช่วยได้มากเหมือนหลายๆ ประเทศ
นางสาวอัสหมะ หมัดศิริ (มาร์) ร้าน charlotte doughnut กล่าวว่า มาเปิดร้านแรกๆ เงียบ แต่พอเปิดกันหลายๆ ร้านก็มีนักท่องเที่ยวมามากขึ้น โซนนี้คล้ายปีนัง อยากเห็นร้านมุสลิมมากขึ้น มีร้านฮาลาลมากขึ้น ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวมุสลิมได้
นายกฤษณ์ ฤทธิเดช (นิว) ร้าน The Panic Room กล่าวว่า รู้จักเพื่อนที่นี่ จึงสนใจมาทำธุรกิจ และมองภาพรวมคล้ายกัน โลเคชั่นสายหนึ่งอาจยังเงียบกว่าอีกสองสาย ก็เริ่มปรึกษากับเพื่อน หากมีร้านค้ามากขึ้นจะดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้น หลายสิ่งจะเกิดขึ้น
“หาดใหญ่ไม่มีธรรมชาติแบบสงขลา ที่โดดเด่นจะเป็นเรื่องอาหาร และการท่องเที่ยวกลางคืน”


นายกกแก้ว นาคบัว (เคฟ) ผู้จำหน่ายเกลือปรุงรส (เกษตรกรนาเกลือจังหว้ดปัตตานี) ล่าวว่า ทำวิจัยเกี่ยวกับเกลือที่จังหวัดปัตตานี และพัฒนาส่งขายโรงแรม ร้านอาหารต่าง ๆ อยากเห็นการพัฒนาของหาดใหญ่ และเป็นโอกาสของทุก ๆ คนที่จะเข้ามาทำธุรกิจ ซึ่งเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ แล้วมีความพร้อมมาก ทั้งเรื่องบุคลากร ทรัพยากรธรรมชาติ ถือว่าดีที่สุดในภาคใต้ทั้งหมด

มุมมองผู้ใหญ่

LINE ALBUM เสวนา หนังสืออนุสรณ์ ๑๔๐ ปี ๒๔๐๒๐๗ 16 0


ขณะที่ประธานชุมชนพระสเน่หามนตรี เทศบาลนครหาดใหญ่ นายก่อเกียรติ เลิศวิทยาวิวัฒน์ กล่าวว่า ได้มีโอกาสคุยกับน้องแม็ค และพี่ยุ้ย
เรื่องประวัติของการสร้างเมืองที่ผ่านมา มองว่าอนาคตเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ ที่จะได้ต่อยอดต่อไป
“เราเห็นเมืองหาดใหญ่ในอดีต เห็นปัจจุบัน แล้วมามองกันว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร ก็มีความภูมิใจว่าเมืองหาดใหญ่จะยังไม่ตาย เราได้เห็นความคิดคนรุ่นใหม่ที่ต้องการพัฒนาเมืองหาดใหญ่ โดยหนังสือเล่มนี้ที่จะตีพิมพ์ออกมาเร็วๆ นี้ ทุกคนทราบว่า สิ่งต่างๆ มีคนรุ่นใหม่มาสานต่ออย่างมีความหวัง มุ่งมั่นและตั้งใจ จึงขอฝากหาดใหญ่กับคนรุ่นใหม่ด้วย”
ด้าน ผศ.ดร. ไพรัช วัชรพันธ์ อดีตอาจารย์คณะวิทยาการจัดการ(วจก.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) ซึ่งบิดาเป็นปลัดอำเภอหาดใหญ่ ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่คนรุ่นใหม่กลับมาพัฒนาบ้านเกิด
“เราจะทำอย่างไรให้หาดใหญ่เป็นเมืองท่องเที่ยวแบบเชียงใหม่ ให้ด้านในตัวเมืองเป็นที่รองรับและมีที่เที่ยวอยู่รอบๆ เมือง มีอาหารหลากหลายที่นักท่องเที่ยวสามารถรับประทานได้ เราเป็นเมืองพหุวัฒนธรรม ที่ยังมีความโบราณร่วมอยู่ด้วย ซึ่งคน
ส่วนใหญ่ยังไม่รู้” อาจารย์ไพรัช กล่าว และว่า
คำว่าหาดใหญ่มาจากสภาพพื้นที่ในอดีตที่มีชายหาดขนาดใหญ่ที่คลองอู่ตะเภา ตรงท่าน้ำบางหัก หาดใหญ่ใน ซึ่งน้ำตื้นกว้างประมาณ 30 เมตร สามารถ เดินข้ามกันได้ ภายหลังชายหาดดังกล่าาวหายไป
“การพัฒนาเมืองต้องร่วมมือกัน คนรุ่นใหม่ดึงเพื่อนๆ เข้ามาอย่าให้พื้นที่ว่างเปล่า สินค้าฮาลาล
ก็ต้องมี ทั้งที่กิน ที่พัก ต้อนรับนักท่องเที่ยว ควรมีพิพิธภัณฑ์ให้นักท่องเที่ยว และคนรุ่นใหม่ได้เข้ามาศึกษาความน่าสนใจของเมือง และสร้างกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง” อาจารย์ไพรัช กล่าว
ช่วงท้าย นายวรวุฒิ ได้สรุปการเสวนาว่า หาดใหญ่มีโครงสร้างพื้นฐานดี และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง หากอาคารบ้านเรือนที่ว่างอยู่ ราคาค่าเช่าไม่แพงมากแล้ว จะมีคนที่สนใจมาร่วมพัฒนามากขึ้น เมื่อโครงสร้างภาษีสูงขึ้นโอกาสเจ้าของที่ดินก็เริ่มคิดที่จะปล่อยให้คนรุ่นใหม่ ก็มีมากขึ้น
“การรวมกลุ่มของคนรุ่นใหม่สร้างกิจกรรม จะเกิดการพัฒนา ทั้งด้านธุรกิจและความเป็นอยู่ของคนหาดใหญ่ คนรุ่นใหม่ต้องรวมพลังกันให้ผู้ใหญ่เห็นว่าสามารถสร้างการพัฒนาเมืองไปได้ เริ่มจากการบริการที่ดี มีน้ำใจต่อนักท่องเที่ยว อ่อนน้อมถ่อมตนก็จะก่อให้เกิดความรู้สึกประทับใจ” คุณยุ้ย กล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *